Home | About us | บริการถ่ายภาพ | ห้องภาพ | บทความ | เว็บบอร์ด | เช็คราคากล้อง-เลนส์ | โหราพยากรณ์ | Links  
       
 

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มขาวดำ

ในยุคที่กล้องดิจิตอลครองเมือง กล้องฟิล์มเลยมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากความสะดวกสบายในการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล และทดแทนได้แทบทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะให้โทนสี และรายละเอียดยังไม่ดีเท่ากล้องฟิล์มก็ตาม การถ่ายภาพขาวดำก็เช่นกัน กล้องดิจิตอลก็นิยมมาปรับสีภาพให้เป็นโทนเทาดำ ก็ได้อารมณ์คล้าย ๆ กับภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ แต่ภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำและผ่านกระบวนการล้างอัด ยังคงให้อารมณ์ที่ดีกว่า ใครที่เคยล้าง-อัดภาพในห้องมืดคงจะนึกถึงความน่าตื่นเต้นในตอนที่นำกระดาษอัดภาพไปแช่ในน้ำยาล้างกระดาษ ภาพจะค่อยๆ ปรากฏมาให้เห็น เป็นความรู้สึกที่ประทับใจไม่มีวันลืม แม้ว่าภาพแรกที่ล้าง จะไม่ได้เรื่องเลยก็ตามที

การที่จะถ่ายภาพขาวดำด้วยฟิล์มขาวดำ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก และไม่อยากทำความเข้าใจกับมัน แต่จริง ๆ แล้วการถ่ายภาพขาวดำนั้นง่ายกว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์มสไลด์สีเสียอีก เพราะภาพขาวดำนั้น ในภาพจะมีแต่สีเทาดำ เท่านั้น ฟิล์มสไลด์สีจะมีเรื่องความเข้มของสีมาเกี่ยวข้องอีกมาก

ขั้นตอนการถ่ายภาพขาวดำนั้นจะมีขั้นตอนหลัก ๆ อยู่เพียง 3 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะสืบเนื่องกัน หากสามารถควบคุมได้ครบ 3 ขั้นตอน ก็จะสามารถควบคุมงานถ่ายภาพขาวดำได้อย่างมีคุณภาพ ขั้นตอนที่ว่าจะประกอบด้วย

1. ขั้นตอนการถ่ายภาพ

2. ขั้นตอนการล้างฟิล์ม

3. ขั้นตอนการอัดขยายภาพ

-----------------------------------------

1. ขั้นตอนการถ่ายภาพและการเลือกฟิล์ม

ฟิล์มขาวดำแท้ ๆ หรือมักจะลงท้ายว่า PAN และต้องล้างด้วยน้ำยา D76 หรือตัวอื่น ๆ ที่ฟิล์มจะระบุ มีฟิล์มให้เลือกหลากหลายค่าความไวแสง ตั้งแต่ 25-25000 และยังสามารถ Push-Pull ได้อีกฟิล์มบางตัวจะมีค่าความยืดหยุ่นมากสามารถตั้งค่าความไวแสงได้มากกว่า 6400 แต่ต้องล้างด้วยน้ำยาสูตรที่ฟิล์มระบุมา ฟิล์มขาวดำอย่าง Foma pan หรือ Fote' เป็นฟิล์มที่เหมาะกับการฝึกหัดถ่ายภาพขาวดำ ที่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนการถ่ายภาพเบื้องต้นจะบังคับให้ใช้ มีหลายคนบอกว่าคุณภาพมันไม่ดี แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นฟิล์มที่ใช้ได้ดีทีเดียว เพียงแต่หลายคนที่กล่าวว่าไม่ดี อาจจะเป็นเพราะการล้างฟิล์มอย่างผิดวิธีนั่นเอง ฟิล์มอีกตัวที่จะหาง่ายและนิยมใช้กันแต่มีราคาสูงสักหน่อย คือ Kodak T-MAX 100 เป็นฟิล์มที่เหล่ามืออาชีพใช้กัน เนื่องจากให้โทนสีเทาดำที่ดีแล้ว เกรนยังละเอียดมาก เรียกได้ว่าถ้าลองแล้วจะติดใจ หากงบไม่มาก ก็แนะนำให้ซื้อฟิล์มโหลด มาใช้ก็ได้เป็นการประหยัดแบบหนึ่ง หากไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพมากนัก

การถ่ายภาพขาวดำ เนื่องจากฟิล์มขาวดำจัดเป็นฟิล์มเนกาทีฟ ซึ่งมีค่าความยืดหยุ่นมาก ดังนั้นการที่ถ่ายติดโอเวอร์ มากกว่าปกตินิดหน่อยจะให้ผลที่ดีกว่าการถ่ายภาพติดอันเดอร์ หรือถ้าหากวัดแสงแม่น ๆ และมีความชำนาญในทุกขั้นตอนเป็นอย่างดี การถ่ายภาพที่พอดี จะสามารถควบคุมโทนภาพได้

โทนของภาพที่ปรากฏในฟิล์มจะมี 10 โทน โทนที่ 5 หรือ V คือ โทนสีเทากลาง 18 % ดังนั้นขั้นตอนการฝึกควบคุมโทนในการถ่ายภาพ มักจะหากระดาษสีเทากลางมาเป็นตัวทดสอบ โดยการถ่ายภาพ อันเดอร์ – พอดี – โอเวอร์ ประมาณ -3 ถึง +3 แล้วนำฟิล์มที่ถ่ายได้มาล้างในน้ำยาล้างฟิล์มเพื่อหาค่าเวลาที่ถูกต้อง และก็ทำวิธีนี้อีกด้วยการ เพิ่ม-ลดเวลา ในการล้างอัด เพื่อเป็นการหาการ Push – Pull ของฟิล์มรุ่นที่เราถ่ายอยู่ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในครั้งต่อไป ตามปกติในการวัดแสงนิยมใช้วัดแสงแบบเฉพาะจุด เพื่อวัดแสงจุดที่สว่างสุดและมืดสุด จะทำให้นึกภาพได้ว่าภาพนี้จะเป็นแบบใดเมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว

Kodak TP ISO 25 กล้อง F100 เลนส์ 105 MC วัดแสงเฉพาะจุด ส่วนขาวสุด +3 ฉากหลัง-2

 

2. ขั้นตอนการล้างฟิล์ม

ไม่จำเป็นต้องมีห้องมืดก็สามารถล้างฟิล์มขาวดำเองได้ และมีอุปกรณ์ที่จำเป็นไม่กี่ชิ้นเท่านั้น

อุปกรณ์สำหรับการล้างฟิล์มขาวดำ

1.ถุงมืด ใช้ในการโหลดฟิล์มเข้ารีล

2.แท็งก์ ล้างฟิล์ม จะประกอบด้วย รีล ตัวแท็งก์ ฝาปิดและที่หมุน

3.กรรไกร

4.บีกเกอร์ ไว้สำหรับผสมน้ำยาตามอัตราส่วน

5.ชุดน้ำยาล้างฟิล์ม

-น้ำยาล้างฟิล์ม( Develop ) เช่น D76

-น้ำยาหยุดสภาพ( Stop bath )

-น้ำยาคงสภาพ ( fixer )

6.ที่วัดอุณหภูมิน้ำยา

วิธีการล้างฟิล์ม

1.หลังจากเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาถึงการโหลดฟิล์มเข้ารีล ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับมือใหม่หัดโหลดทุกคน หลายคนยอมสละฟิล์มเพื่อเอามาซ้อมโหลดกันข้างนอกก่อน หลังจากนั้นก็ปิดหาหัดโหลด ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมีเทคนิคง่าย ๆ ไม่น่ายุ่งยากขนาดนั้น ทำตามวิธีนี้รับรองหัดโหลดสักสอง-สามครั้ง ก็สามารถโหลดฟิล์มในถุงมืดได้แล้ว

 

 

มีเทคนิคดังนี้

-ตัดหางฟิล์มให้เรียบร้อยก่อน

-ที่ตัวรีลจะมีเขี้ยวอยู่สองอัน จับให้ตรง หลังจากนั้น ดันฟิล์มเข้าไป และขยับรีลให้ดึงฟิล์มเข้าไปนิดหน่อย แล้วใช้นิ้วมือลองดึงตัวฟิล์มเบา ๆ ว่าฟิล์มเข้าไปในร่องของรีลดีหรือไม่ ขั้นตอนนี้ทำให้ที่สว่างได้ทั้งหมด เพราะว่าช่วงต้นฟิล์มเป็นส่วนที่ฟิล์มเสียตั้งแต่ตอนโหลฟิล์มเข้ากล้องแล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร วิธีนี้ห้ามใช้กับฟิล์มอินฟาเรดเท่านั้น

รีลสามารถปรับขนาดฟิล์มได้

-นำรีล แท็งก์ และกรรไกรเข้าไปในถุงมืด หลังจากนั้น สอดมือเข้าไปในถุงมืด ทำการโหลดฟิล์มต่อโดยใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสอง ล็อคที่ตัวฟิล์ม ส่วนนิ้วอื่นจับรีล พร้อมขยับดึงเนื้อฟิล์มต่อไปจนรู้สึกตึง ๆ จึงใช้กรรไกรตัดที่โคนฟิล์ม แล้วขยับดึงเนื้อฟิล์มเข้าไปอีกสักสองสามที หลังจากนั้นนำรีลบรรจุเข้าแท็งก์ล้างปิดฝาให้เรียบร้อย นำออกมาจากถุงมืดได้

จากนั้นถึงน้ำยาที่จะต้องใช้ น้ำยาล้างภาพที่นิยมใช้กันอย่างเช่น D76 ของ Kodak จะขายแบบเป็นผง ให้นำมาละลายในน้ำอุ่นตามส่วนผสมที่ระบุไว้ข้างซอง สามารถเก็บได้นานประมาณ 2 เดือน แต่ต้องเก็บในขวดสีชาและปิดฝาสนิท เมื่อจะนำมาใช้ให้ผสมกับน้ำเปล่าตามอัตราส่วน อย่างเช่น น้ำยา 1 ส่วน น้ำเปล่า 1 ส่วน หรือจะเป็น น้ำยา1ส่วน น้ำเปล่า 2 ส่วน โดยจะต้องควบคุมอุณหภูมิน้ำยาให้ได้ 20 องศา อัตราความเข้มข้นของน้ำยาจะมีผลต่อคอนทราสและเกรน โดยที่อัตราส่วนที่เข้มข้นภาพจะมีความคมชัดแต่จะได้เกรนภาพและโทนไม่ดีนัก ระยะเวลาในการล้างนั้นดูที่ ตารางเวลาล้างฟิล์ม

น้ำยาหยุดภาพ สามารถใช้ได้ตลอดอายุการใช้งาน ของมัน ประโยชน์ของมันจะช่วยหยุดการสร้างภาพได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยยืดอายุน้ำยาคงสภาพซึ่งจะสามารถใช้ได้อีกในครั้งต่อไป

วิธีการล้างฟิล์ม

- เมื่อเตรียมน้ำยาครบหมดแล้ว และอุณหภูมิควบคุมให้ได้ 20 องศา ให้เทน้ำเปล่าลงไปในแท็งก์ที่บรรจุฟิล์ม ก่อนเพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิภายในแท็งก์ และให้เนื้อฟิล์มเปียกชุ่ม แช่ประมาณ 30-60 วินาที หลังจากนั้นเทน้ำเปล่าออก

- หลังจากนั้นเทน้ำยาสร้างภาพ ( D76 ) ลงไปในแท็งก์ และปิดฝา แล้วกระแทกกับพื้นโต๊ะเบา ๆ สัก 2-3 ครั้ง เพื่อไล่ฟองอากาศ เริ่มจับเวลา และเขย่าแท็งก์อย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีตะแคงซ้าย-ขวา ประมาณ 5 วินาที หลังจากนั้นทุก 15 วินาที เขย่าให้ได้ 12 ครั้ง ทำแบบนี้ 2 รอบ (30 วินาที) หลังจากนั้น ให้เขย่า 12 ครั้ง ทุก 30 วินาที เขย่า 5 ครั้ง จนครบเวลาล้างภาพ ควรเทน้ำยาก่อนหมดเวลาประมาณ 10 วินาที (ระยะเวลาล้างสามารถดูได้ที่ข้างกล่องฟิล์ม) อุณหภูมิของน้ำยาจะมีผลต่อระยะเวลาในการล้างและคุณภาพของเกรนภาพด้วย โดยที่อุณหภูมิน้ำยาที่สูง จะสามารถล้างภาพในระยะเวลาที่สั้นลง แต่เกรนภาพจะมากขึ้น ในทางกลับกัน อุณหภูมิน้ำยาที่เย็นจะใช้ระยะเวลานานขึ้น และอัตราการเขย่าแท๊งก์ก็มีผลต่อฟิล์มเช่นกัน เช่น หากเขย่ามากเกินไป ฟิล์มจะหนา หรือ เขย่าน้อยไปฟิล์มจะบาง ดังนั้นต้องควบคุมอัตราการเขย่าให้ดี

-จากนั้นใส่น้ำยาหยุดภาพ เขย่าต่อจนครบ 30 วินาที แล้วเทน้ำยาหยุดภาพออก

-เทน้ำยาคงสภาพ ลงไป ปล่อยทิ้งไว้ 15 นาที แล้วเทน้ำยาใส่ขวด สามารถเก็บไว้ใช้ได้อีก

-นำแท็งก์เปิดฝา ตอนนี้โดนแสงได้แล้ว เปิดน้ำให้ไหลผ่านแท็งก์ ประมาณ 15 นาที จากนั้นนำฟิล์มที่ได้ออกมาจากรีล นำมารีดน้ำออก แล้วแขวนตากไว้จนฟิล์มแห้ง หากมีตู้อบฟิล์มจะดีมาก ให้ระวังอย่าตากจนแห้งจัด จะทำให้ฟิล์มเสียได้ แต่ถ้าไม่มีก็ตากในที่ไม่มีฝุ่น และไม่ควรนำไดร์เป่าผมมาเป่าฟิล์ม เพราะจะทำให้เกิดคราบน้ำและฟิล์มงอตัวได้

- เมื่อฟิล์มแห้งแล้วนำมาตัดใส่ซองฟิล์ม

เพียงเท่านี้ก็ได้ฟิล์มขาวดำมาแล้ว สามารถนำไปให้แล็บอัดภาพอัด ในกระดาษอัดภาพสี สามารถเลือกโทนสีได้ หรือหากมีโอกาสอัดภาพขาวดำแท้ ๆ ในห้องมืดก็ได้เช่นกัน

 

3. ขั้นตอนการอัดขยายภาพ

เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ห้องมืด หัวอัดขยายภาพ และเลนส์ที่ใช้อัดขยาย น้ำยาล้างกระดาษ และกระดาษที่เลือกมาอัดขยายภาพ ล้วนมีผลต่อความคมชัดและโทนสีภาพทั้งหมด น้ำยาล้างกระดาษบางสูตรเป็นน้ำยาที่สามารถถ่ายทอดโทนภาพได้สุดยอด แต่ก็มีอายุสั้นมาก คือ สามารถอัดได้เพียงไม่กี่ภาพก็ต้องทิ้งน้ำยานั้นไปแล้ว น้ำยาที่อัดขยายภาพขาวดำจะคล้าย ๆ กับฟิล์ม เพียงแต่ตัวน้ำยาสร้างภาพจะเป็นคนละตัวกัน ส่วนน้ำยาหยุดภาพกับน้ำยาคงสภาพสามารถใช้ร่วมกันได้เพียงแต่อัตราส่วนผสมจะไม่เท่ากันเท่านั้น

ขั้นตอนการหาค่าเวลาอัดขยายภาพ

ปกติตาม มหาวิทยาลัยจะสอนให้นำภาพที่ต้องการอัดมาหาค่าเวลาการฉายแสง ซึ่งก็เป็นวิธีที่ดี แต่จะยุ่งยากหากต้องอัดภาพหลายภาพ บางคนจะแนะนำให้เพิ่มเวลาฉายแสงและลดเวลาในน้ำยาสร้างภาพเอา ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะกระดาษอัดภาพต้องอาศัยเวลาในการสร้างภาพ หากรีบเอาภาพขึ้นจากน้ำยาเร็ว ผลที่ได้คือภาพจะเลือน หรือเสียไป วิธีที่อยากแนะนำคือให้นำต้นฟิล์มที่ไม่มีภาพ หรือประมาณต้นฟิล์ม มาทดสอบหาค่าเวลาที่ถูกต้อง แต่วิธีนี้ต้องวัดแสงถูกต้องและควบคุมวิธีการล้างฟิล์มอย่างละเอียดเสียก่อน บริเวณฟิล์มที่ใส คือบริเวณที่ดำที่สุดของภาพ ดังนั้นการหาค่าทดสอบนี้จะดีที่สุดสำหรับการอัดภาพขนาดเท่ากับจำนวนหลาย ๆ ใบและจะเป็นค่าที่ให้โทนครบมากที่สุด และมั่นใจเลยว่า อัดภาพออกมาแล้วคงไม่มืดดำ ให้นำฟิล์มมาใส่หัวอัด ปรับภาพให้ชัดเสียก่อนแล้วปรับรูรับแสงไปที่ F.8 ที่บริเวณเลนส์อัดภาพ จากนั้นนำฟิล์ม ให้เป็นส่วน ฟิล์มครึ่งหนึ่ง ของเฟรมนั้น อีกส่วนจะเป็นส่วนของแสงไม่มีฟิล์มมาบัง จากนั้นให้ตั้งเวลา 5 วินาที ปิดไฟเครื่องแล้วนำกระดาษอัดมาวางไว้ที่บริเวณที่จะฉายแสงอัดขยายภาพ นำกระดาษแข็งมาบังแสงเป็นทุก ๆ 5 วินาที จะเลื่อนกระดาษขึ้นไป ซึ่งเป็นวิธีที่เหมือนกับการหาค่าเวลาอัดแสงทั่วไปที่สอนกันเพียงแต่เราไม่ได้หาค่าแสงพอดีของภาพ แต่เรามาหาส่วนที่มืดที่สุดของเนื้อฟิล์มนั้น จากนั้นนำกระดาษที่อัดลงในน้ำยาสร้างภาพ โดยให้หน้าที่อัดคว่ำลงไปในน้ำยาก่อน หลังจากนั้นให้เขย่าถาดน้ำยาผ่านไปสัก 30 วินาทีจึงพลิกหน้ากระดาษขึ้นมาแช่ต่อจนครบ 1 นาที และนำไปลงน้ำยาหยุดภาพ และคงสภาพต่อไป ทุกขั้นตอนแช่จนครบเวลาที่น้ำยากำหนดมาให้ จากนั้นนำมาดู ระดับขั้นเทาดำที่ได้จากการทดสอบหาค่าความมืดสุด โดยที่ส่วนที่มืดที่สุดของฟิล์มจะสว่างกว่าส่วนที่ไม่ได้เป็นส่วนของเนื้อฟิล์มนิดหน่อย นำค่าที่ได้นี้มาตั้งค่าเวลาของเครื่องอัด หลังจากนั้น นำภาพที่ถ่ายทดสอบกับกระดาษสีเทากลางในตอนถ่ายทดสอบมาเป็นตัววัด โดยใช้ค่าเวลาที่หาได้ ค่าที่ได้อาจจะคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ก็สามารถเพิ่ม-ลดเวลาที่ถูกต้องได้ง่าย และใกล้เคียงที่สุด เมื่อได้ค่าเวลาที่ถูกต้องก็สามารถอัดขยายภาพได้ง่าย บางครั้งควบคุมโทนของการอัดภาพขาวดำ ยังใช้วิธีการเผา และบังแสง แต่หากเข้าใจการวัดแสง เรื่องโทนของภาพมาดีแต่แรก ผ่านการล้างที่ดี วิธีการเหล่านี้ก็จะใช้น้อยลง ภาพขาวดำที่ได้ก็จะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

มาเรื่องของกระดาษอัดภาพขาวดำ ที่ขยายในท้องตลาดจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ กระดาษแบบ fix grade โดยที่เกรดของกระดาษจะเหมือนกับค่าความไวแสงฟิล์มคือ ยิ่งมีตัวเลขสูงก็จะยิ่งไวแสงมากยิ่งขึ้น(ใช้เวลาฉายแสงน้อยลง) มีตั้งแต่ 0 – 5 และกระดาษอับแบบ multigrade ที่สามารถปรับค่าเกรดได้ด้วยการใส่ฟิลเตอร์ที่เลนส์หัวอัดขยายภาพ หากไม่ใส่ จะมีค่าความไวเท่ากับ เกรด 2 ของกระดาษธรรมดา


 
 

Design by TaewTong | taewtong2002@yahoo.com

 

Copyrights © 2007 www.doartdee.com | All rights reserved.