Home | About us | บริการถ่ายภาพ | ห้องภาพ | บทความ | เว็บบอร์ด | เช็คราคากล้อง-เลนส์ | Links  
       
 

  ถ่ายรูปพระเครื่องง่ายนิดเดียว

     หลังจากที่ได้รับความรู้จากเว็บแห่งนี้มานาน ก็เริ่มลงมือปฏิบัติกันสักที ด้วยงานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมก็คือสะสมพระเครื่องและมักที่จะต้องถ่ายรูปอัดใส่กระดาษ รวมไปถึงการโพสรูปพระลงอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถ่ายรูปด้วยคนเอง ครั้งแรกก็ใช้กล้องคอมแพ็คธรรมดาโดยการเข้าโหมดมาโคร แต่ใช้สักระยะ รู้สึกไม่ค่อยพอใจในคุณภาพสักเท่าไหร่ หลังๆ มาจึงลงทุนกัดฟันซื้อ DSLR มาใช้ด้วยเหตุผลที่ต้องการคุณภาพที่มากกว่า โดยเลือกเป็น Nikon D50 มาเป็นกล้องคู่กาย ซึ่งจริงๆ แล้วจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ไม่สำคัญหรอกครับ สำคัญที่เทคนิคการถ่ายมากกว่า พอดีได้เลนส์มาโครรุ่นเก่า 105 mm. มาโฟกัสกับวัดแสงไม่ทำงาน แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับกล้องดิจิตอลเพราะสามารถถ่ายแล้วเห็นภาพได้ จากนั้นก็เริ่มลองผิดลองถูก ถ่ายๆ แก้ๆ ไปก็หลายครั้ง จนถูกใจบรรดาเซียนพระเครื่อง ซึ่งไม่มีทฤษฎีบอกว่าต้องแบบนี้หรือแบบนั้นถูก แต่ต้องถูกใจบรรดาเซียนพระ ถึงจะได้เป็นที่ยอมรับว่า "ผ่าน" สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายรูปพวกนี้คือ ระบบการจัดแสงและการจัดแสงครับผม ที่ผมใช้อยู่แล้วใช้ได้ดีตอนนี้ ก็หลอดไฟธรรมดานี่ล่ะครับ อาศัยการปรับ WB ให้เหมาะสม สำหรับกล้องที่สามารถ preset WB ได้ ก็สามารถทำได้โดยนำกระดาษขาวมาวางไว้ก่อน แล้วก็ถ่ายที่กระดาษขาวให้ขาว จากนั้นไปเซ็ทที่ custom ของ WB ให้เลือกภาพนี้เป็นค่าแสงหลัง จะทำให้อุณหภูมิสีที่ได้จะถูกต้อง และที่สำคัญคืออย่าปรับให้องค์พระสีเพี้ยนเป็นอันขาด ทีนี้มาลองดูอุปกรณ์ชุดของผมดูครับ

 

อุปกรณ์ที่ใช้งาน
1. ขาตั้งกล้องแบบแข็งแรงทนทานที่รับน้ำหนักกล้องได้
2. กล่องถ่ายรูปพระสุดหรู ทำขึ้นมาเอง
3. กระดาษสีที่ใช้ในการเป็นสีพื้น
4. พระเอกของงาน หลอดไฟตะเกียบ 2 ดวง(ซ้าย-ขวา)

*** สำหรับเซ็ทไฟแบบนี้ ช่างภาพมืออาชีพ(สุดยอดโปรฯ) หลายท่าน ที่มองคัดค้านกันหัวชนฝา แสงเพี้ยนสีไม่ดี ไม่ใช้หลัก ต้องใช้แฟลช 2 ดวง 3 ดวง ตาแมว ฯลฯ จะให้มันยุ่งยากไปทำไม (ผลสุดท้ายก็ตกม้าตายมาหลายคน) ช่างภาพถ่ายรูปพระมืออาชีพ, ช่างถ่ายรูปพระของหนังสือพระ ก็ใช้สูตรเดียวกับผมนี่ล่ะครับ หลอดไฟ 2 ดวง ซ้าย-ขวา จบ....คงไม่ต้องบรรยายเพิ่มนะครับว่าทำไมต้องสองดวง แสงหลักดวงหนึ่ง แสงลบเงาอีกดวงหนึ่งไงครับ

   

ส่วนประกอบกล่องสุดหรู(สร้างเองกับมือ)ไปซื้อก็แพงเป็นหมื่น
1. กล่องไม้จะสร้างเองหรือไปจ้างทำก็ได้ ขนาดแล้วแต่ชอบ
2. กระจกสำหรับวางพระจะใช้แบบธรรมดาหรือแบบตัดแสงก็ได้
3. กระดาษสีพื้น

*** ของผมทำเป็นกล่องขนาด 6นิ้ว เพราะไม่ได้ถ่ายพระอะไรใหญ่มากมาย ใครมีงบหน่อยก็ไปจ้างทำเป็นแบบกล่องอลูฯ ไปเลย ติดขาตั้งไฟพร้อมเสร็จมาเลยก็ได้ไม่ว่ากัน


             
        จากนั้นก็ขึ้นกล้องกับขาตั้งกล้องเลยครับ...ปรับกล้องลงมาให้ทำมุม 90 องศากับพื้น นำพระมาวางไว้บนกระจก ปรับมุมแสงแล้วถ่ายได้เลย ไม่ชอบสีพื้นก็เปลี่ยนใหม่ สำหรับรูรับแสง (f) นั้น ผมให้ความสำคัญมากครับ แนะนำที่ 8-11 เพื่อครอบคลุมให้ได้ระยะชัดลึกที่เหมาะสม ถ้าถ่ายพวกเหรียญไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหากับพระพวกมีมิติลึก เช่นพระคง คือชัดเฉพาะหน้าอกพระ กลุ่มโพธิ์ไม่ชัด หรือจะโฟกัสที่กลุ่มโพธิ์แต่หน้าอกพระหลุดโฟกัส งั้นก็ใช้ระยะชัดลึกไปเล้ย สำหรับผมปรับ 16-22 ...โฟกัสที่หน้าอกพระถ่ายระยะชัดลึกแล้วติดโพธิ์มาหน่อยๆ เอาเป็นว่าเก็บได้ทุกรายละเอียดพระ แบบประทับใจเซียน แล้วกันครับ ทั้งนี้ต้องใช้ขาตั้งกล้องทุกภาพนะครับ ชัตเตอร์จะนานเท่าไหร่ก็ช่าง ไม่สนเก็บได้ลึกทุกมิติพอ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือระบบ WB กล้องท่านเองก็ปรับให้พอดีเถอะครับ และอีกอย่างอย่าให้สีองค์พระเพี้ยนนะครับ เป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นนำมา crop ใน PhotoShop ถ้าเราถ่ายดีแล้วไม่จำเป็นต้องปรับแต่งสีอะไรเพิ่มเติมเลยครับ

 

พระคงลำพูนกรุเก่า ถ่ายยากเหมือนกันครับพระมีระดับมิติที่ต่างกัน

 
หินสีเชียงแสน
เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น 3 เนื้ออัลปาก้า สภาพใช้
ตรงนี้จะเห็นว่าส่วนด้านล่างแสงยังวิ่งไม่ถึงพอ ยังไงก็ลองๆ ปรับกันดูนะครับ เผื่ออาจจะใช้ไฟดวงที่ 3 เข้าช่วยอีกก็ลองกันดูครับผม

          เพียงจัดตำแหน่งเซ็ทอุปกรณ์ให้ลงตัวเพียงไม่กี่นาทีก็จะได้ภาพพระเครื่องที่ต้องการแล้ว หากจะออกไปรับงานจริง ๆ จัง ๆ ลองเอาไปประยุกต์เช็ทอุปกรณ์ดี ๆ ก็ได้ชุดถ่ายภาพพระเครื่องแล้ว ลองดูนะครับ หรือจะคอยติดตามผลงานชิ้นต่อไป ผมจะทำแบบชุดสำเร็จขึ้นมา หรือจะโทรมาปรึกษาก็ได้ครับ 081-2883617 (จูน)
          คำแนะนำ แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพพระ อาจจะใช้แสงจากหลอดไฟ เช่นหลอดไส้ ขนาด 100W หรือหลอดไฟชนิดอื่น เพียงแต่ต้องนำมาปรับ WB หรือ ไวท์บาลานด์ ที่กล้อง เพื่อให้ได้สีที่ถูกต้อง วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและทำให้แสงตรงใจได้มากที่สุด

         by พันธ์ชัย บุญญผลานันท์ (จูน)


ข้อคิด/ข้อเตือนใจ เรื่องการรับจ้างถ่ายพระเครื่อง ในวงการพระเครื่อง มีทั้งพระแท้ และพระเก้ ซึ่งจะสังเกตุได้ง่ายว่า ถ้าผู้จ้างมีพระดัง ๆ เยอะ ๆ สามารถสันนิษฐานในใจได้ว่ามีพระเก้เกินครึ่ง เซียนพระจริง ๆ น้อยคนที่จะมีพระแท้ ๆ ดัง ๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อรับงานถ่ายภาพ ก็ควรศึกษาเรื่องพระเครื่องพอสมควร เพราะจะได้จัดแสงได้ถูก เนื่องจากพระเครื่องมีหลากหลายลักษณะ ทั้งนูน แบน โค้งเว้า รวมทั้งวัสดุที่นำมาสร้าง ล้วนมีผลต่อการจัดสภาพแสงในการถ่ายภาพ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ อย่าประมาท การจับวางพระทุกครั้ง เป็นไปได้ให้เจ้าของพระเป็นคนนำพระมาวางไว้ที่แทนถ่าย เพื่อป้องกันปัญหา ทำพระหล่น แตก จนเป็นคดีความ ถึงจะเป็นพระเก้ ก็จะเป็นพระแท้ตอนนี้แหละ หรือจนกว่าจะมีเซียนพระมาพิสูจน์ว่า องค์ที่ทำแตกไปแท้ไม่แท้ ถึงยังไงก็ได้ไม่คุ้มเสีย ควรระวังกันให้ดีด้วยนะครับ และความสุขจากประสบการณ์ที่ถ่ายพระเครื่องคือ มันมีพลังอย่างหนึ่ง ที่ผมเรียกว่า พลังแห่งศิลปะ การทำพระเครื่อง เป็นศาสตร์เรียกว่าชั้นสูงมาก ๆ นอกจากจะเห็นลวดลายบนองค์พระ ยิ่งพระแท้ ๆ เส้นสายจะสวยมาก และเนื้อจะแกร่ง มีลวดลายจากวัสดุที่นำมาทำ เรียกว่าเป็นศิลปะของไทยจริง ๆ

 

สอบถามเทคนิค ปัญหาถ่ายพระเครือ่งได้ที่เว็บบอร์ด คลิ๊ก

Editer ชัยยงค์ โกกนุทาภรณ์


 
 

Design by TaewTong | taewtong2002@yahoo.com

 

Copyrights © 2007 www.doartdee.com | All rights reserved.